วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2558

การประเมินความเสี่ยงเพื่อลดความสูญเสีย

ในรอบสิบปีที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมของประเทศประสพกับการเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง (Major Accident) หลายครั้ง เช่น กรณีโรงงานทำตุ๊กตาเคเดอร์เกิดอัคคีภัยร้ายแรงทำให้มีผุ้ปฏิบัติงานบาดเจ็บนับร้อย และยังส่งผลต่อการหายนะของธุรกิจ หรือกรณีโรงงานลำใยแห้งระเบิดจากสารโปแตสเซียมคลอเรต ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงทั้งต่อชีวิต รัพย์สิน ตลอดจนประชาชนที่อยู่รอบข้าง จากเหตุการณ์ดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า เรากำลังอยู่ท่ามกลางความเสี่ยง ซึ่งหากความเสี่ยงเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นอุบัติเหตุก็จะก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างร้ายแรงได้ ดังนั้น หากองค์กรที่มีความเสี่ยง (Risk) ในการทำงานได้มีการประเมินความเสี่ยงอย่างมีระบบ อีกทั้งผู้ปฏิบัติงานทุกระดับได้มีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินแล้ว การบริหาร และ การควบคุมความเสี่ยงก็จะเกิดประสิทธิผล และประสิทธิภาพเป็นอย่างยิ่ง

 คำนิยามที่เกี่ยวข้อง       ความเสี่ยง (Risk) หมายถึง โอกาสที่จะทำให้เกิดความสูญเสีย (Possibility of Loss ; J.R. Taylor, 1994) โดยพิจารณาจากผลเสียหาย หรือความรุนแรงาของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นกับโอกาสที่จะทำให้เกิดความเสียหายได้



Risk = Severity X Probability

      การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) หมายถึง กระบวนการวิเคราะห์ถึงปัจจัย หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้อันตรายที่มีอยู่ และแอบแฝงอยู่ก่อให้เกิดอุบัติภัย และอาจก่อให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ เช่น การเกิดเพลิงไหม้ การระเบิด การรั่วไหลของสารเคมี หรือวัตถุอันตราย โดยพิจารณาถึงโอกาสและความรุนแรงของเหตุการณ์แหล่านั้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งแวดล้อม (ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2542)
     การบ่งชี้อันตราย (Hazard Identification) หมายถึง กระบวนการค้นหาอันตรายต่างๆ ที่มีอยู่ และที่แอบแฝงอยู่ในทุกขั้นตอนได้ ของกระบวนการผลิต พร้อมทั้งการระบุถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น


หลักการที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยง (Risk Principles)
  1. หากการสัมผัสกับอันตรายมีผลโดยตรงทำให้เกิดความเสี่ยง ดังนั้น ความเสี่ยง = ความรุนแรง X โอกาศ
  2. โอกาศในการเกิดอุบัติเหตุขึ้นอยู่กับความถี่บ่อยของการสัมผัส ความเสี่ยง = ความรุนแรง X โอกาส X การสัมผัส
  3. มิใช่สาเหตุที่มีศักยภาพทั้งหมด (A 11 Potential Causes) จะก่อให้เกิดความสูญเสีย
  4. มิใช่ความผิดพลาด/ความล้มเหลว (Failures) ทั้งหมด จะก่อให้เกิดความสูญเสีย
  5. ความสูญเสียที่เกิดขึ้น่าจะมิได้เกิดในช่วงเวลาเดียวกัน
  6. ความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ที่จะก่อให้เกิดความสูญเสียร่วมกัน จะน้อยกว่าความน่าจะเป็นของการเกิดความสูญเสียของเหตุการณ์เดียว
  7. สาเหตุ และ ผลของความสูญเสีย มีความสัมพันธ์กับสาเหตุพื้นฐาน และ ความผิดพลาดของการบริหารจัดการ
  8. 8การควบคุมที่สาเหตุขั้นกลาง (Immediate Cause) ไม่สามารถควบคุมความเสี่ยงได้อย่างสมบูรณ์ แต่การควบคุมที่สาเหตุพื้นฐาน (Basic Cause) และเป็นการควบคุมความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
  9. มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องบ่งชี้กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง (Major risk Activities) , การสัมผัส (Major Risk Exposure) และผลความสูญเสียที่เกิดขึ้น (Major Severity Loss)
ตัวอย่าง เช่น
  • กิจกรรมที่มีความเสี่ยง - การ Start ? Up Plant
  • การสัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง - ก๊าซไซยาไนต์
  • ผลความสูญเสียหลัก - การเกิดอัคคีภัยและก๊าซรั่วไหลสู่ประชาชน

แนวคิดและหลักการของการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Concept)
      ความเสี่ยงยังคงมีอยู่ ตราบใดที่ยังไม่ทราบอนาคต เพราะว่าผลกระทบที่เลวร้ายได้เกิดขึ้นกับคนนับตั้งแต่เวลาแรกเริ่ม บุคคล , กลุ่ม หรือ สังคม จึงได้พัฒนาวิธีต่าง ๆ ในการบริหาร หรือจัดการกับความเสี่ยง เนื่องจาก ไม่มีใครทราบอนาคตอย่างแน่ชัด ทุกคนจึงเป็นผู้บริหารความเสี่ยงที่จำเป็นโดยแท้จริง (by sheer necessity) ไม่ใช่โดยการเลือก (not by choice)
      การบริหารความเสี่ยง เป็นการตัดสินใจที่เกี่ยวกับความเสี่ยง และดำเนินการภายหลังการตัดสินใจนั้น ระบบการบริหารช่วยให้เกิดการธำรงรักษาอย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้บริหารเปลี่ยนไป ระบบยังคงดำเนินอยู่ต่อไปได้ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ระบบบริหารเป็นเส้นทางของโครงสร้างสำหรับ
  • การปรับปรุงการติดต่อเสื่อสาร
  • การบรรลุจุดหมายขององค์กร
  • พัฒนาบุคลากร
  • ปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจ
ระบบที่มีประสิทธิภาพจะทำให้ความรับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
     การบริหารความเสี่ยง จะผสมผสานร่วมกันระหว่างคุณภาพ สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัย การผลิต การเงิน และการคลัง และอื่น ๆ ในความพยายามที่จะค้นหา ชี้บ่ง ระบุ ความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น และระบุสิ่งวิกฤติในการปฏิบัติงาน
     การบริหารควบคุมความเสี่ยงนำการปฏิบัติอย่างเป็นระบบเพื่อค้นหา ชี้บ่งความเสี่ยงที่เป็นไปได้ ประเมินความเสี่ยง ตัดสินใจในวิธีการควบคุมที่เหมาะสม ดำเนินการควบคุม และมีระบบติดตามเฝ้าระวังเพื่อควบคุมความเสี่ยง

กระบวนการประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment Process)
     การประเมินความเสี่ยง (Risk Assessment) จะช่วยให้ผู้บริหาร หรือนายจ้างจัดลำดับกิจกรรมในการควบคุมตามความสำคัญ (วิกฤติ) และช่วยในการตัดสินใจว่า ความเสี่ยงใดที่สามารถยอมรับได้ และความเสี่ยงใดที่ต้องมีการควบคุม หรือขจัดออก
    ทีมบริหารความเสี่ยง และ พนักงานขององค์กร สามารถระบุ ชี้บ่ง สิ่งที่สัมผัสกับความเสี่ยง (Risk exposure) ทราบอันตราย และความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่เกิดขึ้นในแต่ละวันสามารถประเมินความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับความเสี่ยงอื่น ๆ ได้ พัฒนาแผนงานที่จะควบคุมความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ (Significant Risk) ลงมือปฏิบัติเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่ต้องการ และเฝ้าระวังตรวจตรา ติดตามระบบนั้นได้เป็นอย่างดี

10 ขั้นตอนของการประเมินความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ

  1. ต้องมั่นใจว่า กระบวนการในการประเมินความเสี่ยงที่กำลังดำเนินการอยู่ สามารถปฏิบัติได้ (Practical) และอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง (Realistic)
  2. การดำเนินการ ควรให้บุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรที่เป็นผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงโดยตรงโดยในการดำเนินการควรมีการรวบรวมข้อมูลให้ได้มากที่สุดก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการประเมินความเสี่ยงต่อไป
  3. ในการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ เพื่อให้มั่นใจได้ว่า ในการประเมินได้ครอบคลุมถึงอันตรายที่แฝงเร้น และความเสี่ยงของกระบวนการที่กำลังดำเนินการประเมินอยู่
  4. ให้ความสนใจกับประเด็นสำคัญที่มีผลต่อความเสี่ยง (big picture ; PEME) อย่าเสียเวลาในประเด็นเล็กน้อย
  5. เริ่มต้นด้วยการชี้บ่งอันตราย
  6. ทำการประเมินความเสี่ยงจากอันตรายที่ทำการชี้บ่ง และพิจารณาควบคู่ไปกับมาตรการ การควบคุมอันตรายที่มีอยู่
  7. ในการประเมินความเสี่ยงให้ยึดหลักความเป็นจริง มิใช่ประเมินโดยขาดพื้นฐานแห่งความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ ซึ่งในการประเมินจะมองจากข้อมูลในสภาพความเป็นจริง ในสถานประกอบการปัจจุบัน และควรพิจารณาทั้งลักษณะงานประจำ และงานที่ไม่ได้มีการปฏิบัติเป็นประจำด้วย (Non ? Routine Operations)
  8. ชี้บ่งให้ได้ว่า ใครคือ ผู้สัมผัสกับความเสี่ยงนั้น โดยพิจารณารวมไปถึงผู้ปฏิบัติงานโดยตรง ผู้ที่มาเยี่ยมชมหน่วยงาน , ผู้รับเหมารวมไปถึงสาธารณชนด้วย
  9. ในการประเมินควรใช้วิธีการ/เครื่องมืออย่างง่ายก่อน และอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนมากขึ้นในลักษณะการประเมินเชิงลึก
  10. การประเมินต่างมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร
      องค์กรใดหากได้มีการประเมินความเสี่ยงและมีการจัดทำแผนงานบริหารและควบคุมความเสี่ยงอย่างเหมาะสม ตลอดจนมีการตรวจติดตามโดยผู้บริหารอย่างต่อเนื่องแล้วก็จะทำให้โอกาศที่จะเกิดความสูญเสียในขั้นร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจในทุกมิติ ทั้งต่อ คน กระบวนการผลิต ทรัพย์สิน ตลอดจนสาธารณชน จะมีต่ำที่สุดและถ้าหากเกิดขึ้นก็จะอยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ อันจะทำให้ธุรกิจมีความต่อเนื่องและมีความยั่งยืนอย่างแน่นอน

บทความโดย : สวินทร์ พงษ์เก่า ( sawin.p@egat.co.th )
นักวิทยาศาสตร์ระดับ 10
ฝ่ายพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัย
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น