8×3 เท่ากับ 23 คำสอนของขงจื้อที่โคตรลึกซึ้ง!
เรารู้จัก ขงจื๊อ กันดีในฐานะ เป็นนักคิดและนักปรัชญาสังคมที่มีชื่อเสียงของจีน ซึ่งคำสอนของขงจื๊อนั้น ฝังรากอิทธิพลลึกลงไปในสังคมเอเชียตะวันออกมาเป็นเวลาถึง 20 ศตวรรษ หลักปรัชญาของขงจื๊อนั้นเน้นเกี่ยวกับศีลธรรมส่วนตัว และศีลธรรมในการปกครอง ความถูกต้องเหมาะสมของความสัมพันธ์ในสังคม และ ความยุติธรรมและบริสุทธิ์ใจ วันนี้ทีนเอ็มไทยก็มีหนึ่งคำสอนของขงจื้อ มาฝากให้เพื่อนๆ ได้อ่านกันคะ กับเรื่อง 8×3 เท่ากับ 23 คำสอนของขงจื้อที่โคตรลึกซึ้ง! แล้วคุณจะเข้าใจถึงความหมายของชีวิต ^^
8×3 เท่ากับ 23 คำสอนของขงจื้อที่โคตรลึกซึ้ง!
ศิษย์รักคนนึงของขงจื้อชื่อเอี๋ยนหุย เขาเป็นบัณฑิตใฝ่ศึกษาและมีคุณธรรม วันหนึ่งเอี๋ยนหุยออกไปทำธุระที่ตลาด ก็เห็นผู้คนจำวนมากกำลังห้อมล้อมอยู่ที่หน้าร้านขายผ้าจึงเข้าไปถามดู จึงรู้ว่าเกิดการทะเลาะกันระหว่างคนขายผ้ากับลูกค้า ลูกค้าคนนั้นตะโกนว่า “3×8 ได้ 23 ทำไมท่านถึงให้ข้าจ่าย 24 เหรียญ”
เมื่อได้ยินดังกล่าว เอี๋ยนหุยจึงเดินเข้าไปหวังเจรจาไกล่เกลี่ย “พี่ชาย 3×8 ได้ 24 จะเป็น 23 ได้ยังไง พี่ชายคิดผิดแล้วล่ะ ยอมจ่ายเงินให้พ่อค้าเถอะ” เมื่อคนซื้อผ้าได้ยินดังนั้น ไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงชี้หน้าด่าเอี๋ยนหุยว่า “ใครให้เจ้าเข้ามายุ่ง ไม่ใช่เรื่องกงการอะไรของเจ้า! เจ้านั้นอายุเท่าไหร่กันเชียว มีเพียงท่านขงจื้อเท่านั้นที่ข้าจะยอมรับคำตัดสิน
เอี๋ยนหุยกล่าวว่า “ก็ดี หากท่านขงจื้อบอกว่าท่านผิด ท่านจะทำอย่างไร?” คนซื้อผ้ากล่าว “หากท่านขงจื้อตัดสินว่าข้าผิด ข้าจะยอมหัวหลุดจากบ่าเลย แต่ถ้าหากเจ้าผิดล่ะ?” “หากข้าผิด ข้าจะยอมถูกปลดหมวก (ตำแหน่ง)” เอี๋ยนหุยกล่าว
เมื่อขงจื้อทราบเรื่องและสอบถามข้อเท็จจริงจากทั้งสองคนอย่างกระจ่างแล้ว ก็ยิ้มให้เอี๋ยนหุยและกล่าวว่า “3×8ได้ 23 ถูกต้องแล้วเอี๋ยนหุย เธอแพ้แล้ว ถอดหมวกของเธอให้พี่ชายท่านนี้เสีย” เอี๋ยนหุย ไม่โต้แย้ง ยอมรับในการวินิจฉัยของท่านอาจารย์ จึงถอดหมวกที่สวมให้แก่ชายคนนั้น ชายผู้นั้นเมื่อได้รับหมวกก็ยิ้มสมหวังกลับไป
ต่อคำวินิจฉัยของขงจื้อ ต่อหน้าแม้เอี๋ยนหุยจะยอมรับ แต่ในใจกลับไม่ได้คิดเช่นนั้น เอี๋ยนหุยคิดว่าท่านอาจารย์ชรามากแล้ว ความคิดคงเลอะเลือน จึงไม่อยาก อยู่ศึกษากับขงจื้ออีกต่อไป พอรุ่งขึ้น เอี๋ยนหุยจึงเข้าไปขอลาอาจารย์กลับบ้าน ด้วยเหตุผลที่ว่าที่บ้านเกิดเรื่องราว ต้องรีบกลับไปจัดการ
ขงจื้อรู้ว่าเอี๋ยนหุยคิดอะไรอยู่ ก็ไม่ได้สอบถามมากความ อนุญาตให้เอี๋ยนหุยกลับบ้านได้ ก่อนที่เอี๋ยนหุยจะออกเดินทาง ได้เข้าไปกราบลาขงจื้อ ขงจื้อกล่าวอวยพรและให้รีบกลับมาหากเสร็จกิจธุระแล้ว พร้อมกันนั้นก็ได้กำชับว่า
“อย่าแฝงเร้นกายใต้ต้นไม้ใหญ่ อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง”
เอี๋ยนหุยคำนับพร้อมกล่าวว่า “ศิษย์จะจำใส่ใจ”
แล้วลาอาจารย์ออกเดินทาง เมื่อออกเดินทางไปได้ระยะหนึ่ง เกิดพายุลมแรงสายฟ้าแลบแปลบ เอี๋ยนหุยคิดว่าต้องเกิดพายุลมฝนเป็นแน่ จึงเร่งฝีเท้าเพื่อจะเข้าไปอาศัยอยู่ไต้ต้นไม้ใหญ่ แต่ก็ฉุกคิดถึงคำกำชับของท่านอาจารย์ที่ว่า “อย่าแฝงเร้นกายใต้ต้นไม้ใหญ่ อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง”
เราเองก็ติดตามท่านอาจารย์มาเป็นเวลานาน ลองเชื่ออาจารย์ดูอีกสักครั้ง คิดได้ดังนั้น จึงเดินออกจากต้นไม้ใหญ่ ในขณะที่เอี๋ยนหุยเดินไปได้ไม่ไกลนัก บัดดล สายฟ้าก็ผ่าต้นไม้ใหญ่นั้นล้มลงมาให้เห็นต่อหน้าต่อตา เอี๋ยนหุยตะลึงพรึงเพริด คำกล่าวของพระอาจารย์ประโยคแรกเป็นจริงแล้ว หรือตัวเราจะฆ่าใครโดยไม่รู้สาเหตุ?
เอี๋ยนหุยจึงรีบเดินทางกลับ กว่าจะถึงบ้านก็ดึกแล้ว แต่ไม่กล้าปลุกคนในบ้าน เลยใช้ดาบที่นำติดตัวมาค่อยๆเดาะดาลประตูห้องของภรรยา เมื่อเอี๋ยนหุยคลำไปที่เตียงนอน ก็ต้องตกใจ ทำไมมีคนนอนอยู่บนเตียงสองคน! เอี๋ยนหุยโมโหเป็นอย่างยิ่ง จึงหยิบดาบขึ้นมาหมายปลิดชีพผู้ที่นอนอยู่บนเตียง เสียงกำชับของอาจารย์ก็ดังขึ้นมา “อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง” เมื่อเขาจุดตะเกียง จึงได้เห็นว่า คนหนึ่งคือภรรยา อีกคนหนึ่งคือน้องสาวของเขาเอง
พอฟ้าส่าง เอี๋ยนหุยก็รีบกลับสำนัก เมื่อพบหน้าขงจื้อจึงรีบคุกเข่ากราบอาจารย์และกล่าวว่า “ท่านอาจารย์ คำกำชับของท่านได้ช่วยชีวิตของศิษย์ ภรรยาและน้องสาวไว้ ทำไมท่านจึงรู้เหมือนตาเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับศิษย์บ้าง?” ขงจื้อพยุงเอี๋ยนหุยให้ลุกขึ้น และกล่าวว่า
“เมื่อวานอากาศไม่ค่อยสู้ดีนัก น่าจะมีฟ้าร้องฟ้าแลบเป็นแน่ จึงเตือนเธอว่า อย่าแฝงเร้นกายใต้ต้นไม้ใหญ่ และเมื่อวาน เธอจากไปด้วยโทสะ แถมยังพกดาบติดตัวไปด้วย อาจารย์จึ้งเตือนเธอว่า อย่าฆ่าผู้ใดหากไม่ชัดแจ้ง ”
เอี๋ยนหุยโค้งคำนับ “ท่านอาจารย์คาดการดังเทวดา ศิษย์รู้สึกเคารพเลื่อมใสท่านเหลือเกิน” ขงจื้อจึงตักเดือนเอี๋ยนหุยว่า “อาจารย์ว่าที่เธอขอลากลับบ้านนั้นเป็นการโกหก ที่จริงแล้วเธอคิดว่าอาจารย์แก่แล้ว ความคิดเลอะเลือน ไม่อยากศึกษากับอาจารย์อีกแล้ว เธอลองคิดดูสิ อาจารย์บอกว่า 3×8ได้ 23 เธอแพ้ ก็เพียงแค่ถอดหมวก หากอาจารย์บอกว่า 3×8ได้ 24 เขาแพ้ นั่นหมายถึงชีวิตของคนๆหนึ่ง เธอคิดว่าหมวกหรือชีวิตสำคัญล่ะ? ”
เอี๋ยนหุยกระจ่างในฉับพลัน คุกเข่าต่อหน้าขงจื้อ แล้วกล่าวว่า “ท่านอาจารย์เห็นคุณธรรมเป็นสำคัญ โดยไม่เห็นแก่เรื่องถูกผิดเล็กๆน้อยๆ ศิษย์คิดว่าอาจารย์แก่ชราจึงเลอะเลือน ศิษย์เสียใจเป็นที่สุด” จากนั้นเป็นต้นไป ไม่ว่าขงจื้อจะเดินทางไปยังแห่งหนตำบลใด เอี๋ยนหุยติดตามไม่ เคยห่างกาย เรื่องราวต่างๆ แบ่งเป็นหนักเบารีบช้า อย่าเป็นเพราะต้องการเอาชนะให้ได้ แล้วทำให้เสียใจไปตลอดชีวิต เรื่องราวมากมายที่ไม่ควรทะเลาะกัน ถอยหนึ่งก้าวทะเลกว้างฟ้างาม
- ทะเลาะกับลูกค้า ต่อให้ชนะ ก็แพ้อยู่ดี (วันที่ส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ใหม่ คุณก็จะรู้สึก)
- ทะเลาะกับเถ้าแก่ ต่อให้ชนะ ก็แพ้อยู่ดี (วันที่ตรวจผลงานปลายปีมาถึง คุณก็จะรู้สึก)
- ทะเลาะกับภรรยา ต่อให้ชนะ ก็แพ้อยู่ดี (เธอไม่สนใจคุณ คุณก็หากับข้าวกินเองละกัน)
- ทะเลาะกับเพื่อน ต่อให้ชนะ ก็แพ้อยู่ดี (เคลียร์ไม่ได้ คุณอาจจะเสียเพื่อนไปเลย)
- ใบชา เกิดสีสวยและกลิ่นหอมน่าลิ้มลองได้ ก็เพราะโดนน้ำร้อนลวก
ชีวิตของคนเราก็เช่นเดียวกัน เพราะเผชิญกับอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่า จึงเหลือไว้ซึ่งเรื่องราวเป็นตำนานให้ได้เล่าขานน่าตามติด ผู้ที่รู้สำนึกคุณอยู่เสมอ จึงเป็นผู้มีวาสนามากที่สุด
ขอบคุณข้อมูล deemagz.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น